วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

หลักกฎหมายดอกเบี้ยทบต้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อนุญาตให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้มีอยู่อย่างจำกัด คือ สัญญาบัญชีเดินสะพัด สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี (Overdraft : O/D) เพราะเหตุว่า การคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นการสร้างเงินได้อย่างมหัศจรรย์ สามารถเพิ่มมูลค่าของเงินได้อย่างมหาศาล ไม่มีขีดจำกัด แต่จะส่งผลร้ายแก่ผู้ที่ถูกคิดดอกเบี้ยทบต้น

วิธีการคิดดอกเบี้ยทบต้น คือ ต้นเงินบวกดอกเบี้ย แล้วนำดอกเบี้ยไปรวมเป็นต้นเงินอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ต้นเงินจะมากขึ้น แล้วต้นเงินนี้ นำมาคิดดอกเบี้ยอีกต่อไปเรื่อย ๆ เช่น ต้นเงิน 100,000 ดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน พอถึงสิ้นเดือน ยอดเงินเป็น ต้นเงิน 100,000 บวกดอกเบี้ย 10,000 รวมเป็น 110,000 พอเดือนถัดไป ต้นเงินเป็น 110,000 พอสิ้นเดือน กลายเป็น 110,000 บวกดอกเบี้ย 11,000 รวมเป็น 121,000
อย่างนี้เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ดอกเบี้ยทบต้น สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของต้นเงิน แต่เป็นโทษอย่างสาหัสแก่ผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายเงิน กฎหมายจึงต้องคุ้มครองไม่ให้มีการคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามอำเภอใจ หรือแม้นแต่มีข้อตกลงกันไว้เอง เช่น กู้เงินกันเองระหว่างเอกชนโดยมีเงื่อนไขให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ ถึงทั้งคู่จะตกลงยินยอม แต่กฎหมายก็ไม่บังคับให้ และลดระดับให้เพียงคิดดอกเบี้ยตามปกติไม่เกินร้อยละ 15ต่อปี

ดังนั้น ผู้ที่สนใจกู้เงินโดยจ่ายดอกเบี้ยทบต้น จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง หากไม่สามารถหาเงินมาชำระคืนได้อย่างรวดเร็วครบถ้วนแล้ว ไม่ควรไปสร้างภาระเช่นนี้เป็นอันขาดเพราะจะทำให้ภาระหนี้สินสูงขึ้นมากจนไม่สามารถชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้อีกเลย

กฎหมายฟอกเงิน (Money Laundry)

การฟอกเงินหมายถึง การได้เงินมาโดยไม่ถูกกฎหมาย และนำไปผ่านกระบวนการฟอกเงินเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากนั้น จะได้นำเงินไปใช้ได้อย่างถูกต้อง กระบวนการฟอกเงินถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (Business Crime) ที่สำคัญ อันจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจได้ด้วย เนื่องจากเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด นำมาหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจซึ่งเชื่อมโยงไปหลาย ๆ อุตสาหกรรม สร้างความปั่นป่วนให้กับสาธารณชนเป็นจำนวนมากได้ ทุก ๆ ประเทศจึงร่วมมือกันให้มีกฎหมายฟอกเงินเพื่อทำลายแหล่งฟอกเงินทั้งหลายเหล่านี้ ผู้กระทำผิดก็มักจะเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งก็ยากแก่การปราบปราม ดังนั้น จึงต้องร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อกำจัดวงจรการฟอกเงินเหล่านี้
มิฉะนั้น อาจส่งผลกระทบยังบุคคลในสังคมได้

วิธีการฟอกเงิน ก็คือ นำเงินที่ได้มาจากแหล่งต่าง ๆ ข้างต้นนี้ ไปฟอกให้สะอาด เช่น การปั่นหุ้น โดยนำกำไรที่เกิดขึ้นไปจัดตั้งบริษัท ห้างร้าน แล้วสร้างบัญชีตัวเลขให้มีกำไรมาก ๆ เพื่ออ้างว่า เงินที่ได้มาจากการลงทุนได้กำไร เป็นต้น เงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด รัฐจะต้องริบไว้ทั้งหมดเพื่อดำเนินคดีอาญา

บ่อเกิดของการฟอกเงินมีที่มาจากหลายแหล่งได้แก่

1.การค้ายาเสพติด เป็นลำดับหนึ่งของการฟอกเงิน
2.การค้าประเวณี โสเภณีเด็ก
3.การค้ามนุษย์ เช่น หลอกลวงให้ผู้อื่นไปทำงานต่างประเทศ
4.การโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หลอกให้โอนเงินทางATM
5.การค้าขายของเถื่อน ของหนีภาษี เช่น ขายเหล้า บุหรี่ ที่ไม่เสียอากร
6.การพนันที่ผิดกฎหมาย เช่น พนันฟุตบอล หวยเถื่อน
7.การหลอกลวงสาธารณชน เช่น การเล่นแชร์ลูกโซ่
8.การค้าอาวุธสงคราม เช่น ขายปืน ขายลูกระเบิด แก่กองกำลังติดอาวุธ
9.ผู้มีอิทธิพล เช่น แก็งค์มาเฟียรีดไถ เรียกค่าไถ่
10.การปั่นหุ้น เช่น สร้างราคาในตลาดหุ้นเพื่อขายราคาแพง

การให้สัมปทานของรัฐ

รัฐเป็นเจ้าของผืนดิน ผืนน้ำ อากาศ คลื่นความถี่ และทรัพยากรธรรมชาติอีกหลายอย่าง บางครั้ง รัฐไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด จึงจัดสรรให้ภาคเอกชนนำไปบริหารจัดการเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมแทนภาครัฐ ที่อาจมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ กำลังคน หน่วยงานที่ดูแล โดยรัฐเข้าไปทำสัญญาเป็นผู้ให้สิทธิแก่เอกชนซึ่งมาทำข้อตกลงกับรัฐ และกำหนดผลตอบแทนคืนรัฐในรูปแบบ
ของการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม การจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเป็นระยะเวลาที่แน่นอน เป็นต้น

สัมปทานของรัฐที่สำคัญ ได้แก่ การให้สัมปทานในการแสวงหาขุดเจาะบ่อน้ำมันดิบ การให้สัมปทานในการสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ การสร้างทางด่วน การสร้างเขื่อนโรงไฟฟ้า การสร้างถนน การสร้างทางรถไฟฟ้า การสร้างถนนวงแหวน การจัดสรรคลื่นความถื่โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

รัฐเป็นคู่สัญญา โดยมีเอกชนเป็นผู้รับสัญญา เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน เอกชนได้ประโยชน์ในรูปการลงทุนและได้รับผลตอบแทนเป็นเงินที่เก็บจากการที่ประชาชนมาใช้บริการ รัฐได้เงินส่วนแบ่งจากภาคเอกชน มีการจ้างงาน ประชาชนมีงานทำ มีสิ่งก่อสร้างเกิดขึ้น มีการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ มีผลิตผลหรือผลผลิตของงานที่ทำ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม รัฐเรียกเก็บภาษีได้ทั้งภาษี
การค้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม GDP เพิ่มขึ้น และอื่น ๆ

การให้สัมปทานของรัฐจึงเป็นสิ่งจำเป็น และต้องดำเนินการ ตราบเท่าที่ความต้องการใช้สิ่งอุปโภค บริโภค หรือสาธารณูปโภค ของประชาชนยังมีอยู่อีกมาก แต่กำลังของภาครัฐยังมีอยู่อย่างจำกัด

สัญญาแฟรนไชส์ (Franchise)

แฟรนไชส์ หมายถึง การให้สิทธิในทางการค้าแก่บุคคลอื่นโดยเจ้าของสิทธิอนุญาตให้ และมีเงื่อนไข ข้อบังคับหลายประการ ให้ผู้รับสิทธิต้องปฏิบัติตามข้อตกลงตามสัญญา สัญญาแฟรนไชส์ มีมากมาหลายอย่าง ได้แก่ แฟรนไชส์ของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น แฟรนไชส์ร้านขายก๊วยเตี๋ยวชายสี่หมี่เกี๊ยว เป็นต้น

เจ้าของสิทธิเป็นผู้คิดค้นสินค้าหรือบริการขึ้นมา และจดทะเบียนเป็นเจ้าของสิทธิอาจอยู่ในรูปสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) เจ้าของสิทธิเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับสิทธิ หรือผู้ใช้สิทธิ หรือผู้ลงทุนทำการค้า ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ข้อตกลง และจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของสิทธิ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

ผู้ลงทุนก็มักจะเลือกใช้แฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียง และคาดว่าน่าจะประสบความสำเร็จในการลงทุนทำการค้า
ไม่ว่าจะเป็นแฟรนไชส์ในประเทศ หรือต่างประเทศ ผู้ลงทุนก็ต้องทำตามข้อตกลงซึ่งเป็นสัญญาต่าง
ตอบแทนกันประเภทหนึ่ง เสมือนเป็นหุ้นส่วนทางการค้า โดยต่างฝ่ายต่างต้องลงทุน ออกแรง ใช้ความคิดสร้างสรร และวางแผนการตลาด ควบคุมค่าใช้จ่าย สร้างกำไรให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ และคงอยู่ได้นาน ๆ

หากผู้อ่านท่านใดสนใจลงทุน ต้องไม่พลาดการร่วมทุนทำสัญญาแฟรนไชส์กับบริษัทที่มีชื่อเสียงในสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เฉพาะด้าน เพราะนอกจากจะทุ่นเวลาในการสร้างแบรนด์และการทำตลาดแล้ว ยังรับประกันความสำเร็จได้อีกด้วย (ถ้าไม่มีข้อผิพลาดอื่นใด)

การกู้ยืมเงิน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีเรื่อง การยืม ซึ่งก็หมายรวมถึงการกู้ยืมเงินด้วย ผู้ยืมหรือผู้กู้เงิน และผู้ให้ยืมหรือผู้ให้กู้หรือเจ้าของเงิน เรียกได้หลายอย่าง ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกู้เงินกัน โดยมีการเสียดอกเบี้ยให้แก่เจ้าของเงินเป็นการตอบแทนที่ให้ยืมเงิน อัตราดอกเบี้ย ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ก็ให้คิดร้อยละ 7.5ต่อปี หรือถ้าตกลงเรื่องจ่ายดอกเบี้ยกันก็ต้องไม่เกินร้อยละ 15ต่อปี ถ้าคิดอัตราดอกเบี้ยเกิน กฎหมายก็จะลงโทษ
โดยการยกเว้นดอกเบี้ยให้แก่ผู้กู้ หรืออาจให้จ่ายดอกเบี้ยเพียงไม่เกินร้อยละ 15 เท่านั้น ทั้งนี้แล้วแต่กรณี

การคิดดอกเบี้ยมากกว่าร้อยละ 15ต่อปี ก็สามารถทำได้โดยมีกฎหมายพิเศษ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับบัตรเครดิตซึ่งกำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย อนุญาตให้คิดดอกเบี้ยถึงร้อยละ 28ต่อปี ก็ได้ และสามารถปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ขึ้นอยู่กับกฎหมายพิเศษนั้น ๆ หรือดอกเบี้ยผิดนัด (default) ซึ่งอาจสูงกว่าร้อยละ 30ต่อปีก็ได้เช่นกัน

การกู้เงินจะเกิดขึ้นเมื่อ ผู้กู้เงินได้รับเงิน และเจ้าของเงินได้มอบเงินให้อีกฝ่ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบเงินสด โอนเงินเข้าบัญชีผู้กู้ จ่ายเช็คในนามผู้กู้ หรืออื่น ๆ ที่มีหลักฐานว่าได้รับเงินไปแล้ว กู้เงินต้องมี
หลักฐานเป็นเอกสารหรือหนังสือ ไม่งั้นจะฟ้องบังคับคดีไม่ได้

ตามปกติแล้ว สัญญากู้ ผู้กู้มักจะมีหน้าที่หลายอย่างและอยู่ในฐานะเสียเปรียบเจ้าของเงินเสมอ เช่น มีหน้าที่จ่ายเงินคืนให้ตรงกำหนด จ่ายดอกเบี้ยให้ครบ ปฏิบัติตามเงื่อนไขบางอย่าง หาหลักประกันให้เจ้าของเงิน
พอใจ เสียค่าอากร หรือค่าป่วยการหลายอย่าง จ่ายค่าธรรมเนียมบางประการ จ่ายภาษีดอกเบี้ยด้วย แทบจะกล่าวได้ว่า ได้เงินมาแล้ว แต่ต้องทำให้อีกเป็น10 เรื่องเลยทีเดียว

ผู้กู้เงินมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยให้ครบ ให้ตรงเวลา ให้ครบถ้วน มิฉะนั้น อาจถูกเจ้าของเงินเรียกเงินคืนทั้งหมด หรือฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือเรียกดอกเบี้ยเพิ่มได้ หากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงตามสัญญากู้

ผู้กู้เงินจึงต้องรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง เพราะส่วนใหญ่แล้ว ผู้กู้มักจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบเจ้าของเงินเสมอ ทั้งนี้ ก็เนื่องจากการกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ ผู้ที่กำหนดเงื่อนไขให้เป็นกฎหมายก็คือ เจ้าของเงินหรือนายทุน นั่นเอง

ผู้ที่อยู่ในฐานะกู้เงิน แล้วพบปัญหาในการจ่ายเงินคืนหรือปัญหาอื่นใด ส่ง email มาสอบถามได้ครับ ยินดีให้คำปรึกษา หาแนวทางแก้ไข หรือพบอุปสรรคในการคืนเงินให้แก่เจ้าของเงิน หรือเงินไม่พอใช้คืน ก็ปรึกษาได้เช่นกันครับ

ข้อตกลงหรือสัญญาต่าง ๆ

สัญญา หมายถึง ข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย ได้แก่ ผู้เสนอ และผู้สนอง สอดคล้องต้องกันและอยากให้มีผลผูกพันร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายต่างมีสิทธิและหน้าที่ระหว่างกัน สัญญามีมากมายหลายแบบได้แก่

1.สัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ สัญญาซื้อขาย เช่น ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซื้อขายที่ดิน ซื้อขายบ้าน ซื้อขายคอนโด ซื้อขายสังหาริมทรัพย์ ซื้อขายรถยนต์ สัญญารับเหมาก่อสร้าง เช่น
รับเหมาสร้างถนนลอดใต้สะพาน สัญญาให้ เช่น ให้ที่ดิน สัญญายืม เช่น กู้เงิน สัญญาเช่า เช่น เช่าบ้าน
เช่าคอนโด เช่าซื้อรถยนต์ สัญญารับฝาก เช่น ฝากเงิน ฝากรถยนต์ เป็นต้น

2.สัญญาอื่น ๆ เช่น สัญญาแฟรนไชส์ สัญญาตอบแทนกัน เป็นต้น สัญญาแฟรนไชส์มีหลายอย่าง ได้แก่ แฟรนไชส์สตาร์บัคส์ แฟรนไชส์สุกี้เอ็มเค แฟรนไชส์แมคโดนัลด์ แฟรนไชส์เซเว่นอีเลฟเว่น ข้อตกลงสัญญาต่าง ๆ เหล่านี้ มีกฎหมายไทยรองรับและบังคับตามกฎหมาย ถ้าเป็นสัญญาต่างประเทศ ก็ว่ากันตามข้อตกลงในสัญญาตราบเท่าที่ไม่ขัดกฎหมายไทย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

กฎหมายเบื้องต้น

กฎหมาย คือ กฎระเบียบที่บังคับใช้กับคนในสังคม มีมากมายหลายรูปแบบ และมีลำดับศักดิ์ต่างกันออกไปตามความสำคัญและการบังคับใช้ ซึ่งในประเทศไทย พอจะเรียงลำดับได้ดังนี้คือ

1.รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุด ส่วนกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นที่รวมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ทุกคนในประเทศย่อมต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เป็นต้น

2.พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา อยู่ในลำดับเดียวกันแตกต่างกันตามการใช้งาน

3.ประมวลกฎหมาย เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น

4.กฎกระทรวง ทบวง กรม เช่น ประกาศกฎกระทรวงแรงงาน

5.คำวินิจฉัยของหน่วยงานรัฐ เช่น คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมที่ดิน คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากร เป็นต้น

6.ข้อตกลงหรือสัญญาต่างตอบแทน เช่น สัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สัญญาแฟรนไชส์ ต่าง ๆ เป็นต้น

บางครั้งข้อขัดแย้งบางอย่าง ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ใช้โดยตรง จึงอาจต้องอาศัยกฎหมายอื่น หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องนำมาใช้แทน เช่นคำพิพากษาศาลฎีกา ความเห็นจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา คำวินิจฉัของอนุญาโตตุลาการทางการค้า เป็นต้น โดยนำมาใช้แทนกฎหมายพิเศษโดยอนุโลมเท่าที่จำเป็นเท่านั้น สำหรับการใช้กฎหมายต่างประเทศอาจเป็นกรณี เช่น การใช้หลักขัดกันแห่งกฎหมาย การนำอนุสัญญาภาษีซ้อนมาใช้กับการเสียภาษี เป็นต้น หากมีข้อซักถาม โปรดส่ง email มาเป็นกรณีได้ครับ